วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าของโภชนากร...บนเส้นทางการพัฒนาเพื่อโภชนาการที่ดี

เรื่องเล่าของโภชนากร...บนเส้นทางการพัฒนาเพื่อโภชนาการที่ดี
วารสารโภชนาการฯ เล่มนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สิรินทร์ พิบูลนิยม ที่ปรึกษาสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี มาถ่ายทอดเรื่องราวบนเส้นทางโภชนศาสตร์ให้เราได้ตระหนักและพร้อมรับมือกับปัญหาด้านโภชนาการได้อย่างทันท่วงที

เขียนโดย สุพิชญา ศรีภมร





ศาสตราจารย์ ดร.สิรินทร์ พิบูลนิยม
ที่ปรึกษาสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี



อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ คงเป็นที่คุ้นเคยของผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ แต่หากกลับไปพิจารณาอาหารเมื่อครั้งอดีตที่คนไทยนิยมบริโภค จะพบว่าช่างแตกต่างกันเสียเหลือเกิน นอกจากความแตกต่างด้านรสชาติและองค์ประกอบแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทางโภชนศาสตร์ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่นักโภชนาการควรตระหนักถึง วารสารโภชนาการฯ เล่มนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สิรินทร์ พิบูลนิยม ที่ปรึกษาสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี มาถ่ายทอดเรื่องราวบนเส้นทางโภชนศาสตร์ให้เราได้ตระหนักและพร้อมรับมือกับปัญหาด้านโภชนาการได้อย่างทันท่วงที

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางวงการอาหารและโภชนาการ

หลังจากที่อาจารย์จบดุษฎีบัณฑิตด้านชีวเคมีและโภชนาการ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา อาจารย์ได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นระยะเวลา 3 ปี และได้ริเริ่มก่อตั้งภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารขึ้น จากนั้นได้ย้ายไปรับราชการที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเริ่มก่อตั้งภาควิชาชีวเคมี ซึ่งนับเป็นหัวหน้าภาควิชาคนไทยคนแรก (ก่อนหน้านั้นเป็นชาวต่างประเทศ) ในระหว่างดำรงตำแหน่งอาจารย์ได้สอนวิชาชีวเคมีให้กับนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสอนวิชาชีวเคมีและโภชนาการให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก

งานวิจัยนำไปสู่การพัฒนา

ในระหว่างดำรงตำแหน่ง อาจารย์ได้ทำงานวิจัยทางด้านโภชนาการและชีวเคมีหลายเรื่อง เช่น วิตามินอีและบทบาทของวิตามินอีในร่างกาย การเกิดโรคเหน็บชาเนื่องจากขาดวิตามินบี 1 โดยพบว่า ผู้ที่ประสบปัญหาการขาดวิตามินบี 1 นั้น ส่วนใหญ่เป็นประชากรในเขตภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้สำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและพบว่าประชากรส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมบริโภคปลาร้าดิบ ในขณะที่ประชากรจำนวนไม่น้อยในเขตภาคเหนือนิยมบริโภคใบชาหรือใบเมี่ยงร่วมกับอาหาร จึงได้ทำการทดสอบโดยการนำปลาร้า ใบชาและใบเมี่ยงไปทำการวิเคราะห์ จากการวิเคราะห์พบว่า ในปลาร้า ประกอบไปด้วยสารอาหารหลายชนิด แต่มีเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่มีผลทำลายวิตามินบี 1 ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้ เอนไซม์ดังกล่าวคือเอนไซม์ไธอะมิเนส และผลจากการวิเคราะห์ใบชาและใบเมี่ยงนั้น พบว่ามีส่วนประกอบของสารชนิดพอลิฟีนอล เช่น แทนนิน ซึ่งจะไปจับกับวิตามินบี 1 ในอาหาร ทำให้ผู้ที่ดื่มหรือเคี้ยวใบชา ใบเมี่ยง หลังอาหารหรือร่วมกับอาหารเป็นประจำนั้นขาดวิตามินบี 1 เมื่อพบปัญหาเช่นนั้นแล้ว จึงได้ทำการวิเคราะห์อย่างเดียวกันโดยเปลี่ยนให้กลุ่มทดลองบริโภคปลาร้าต้มสุกแทน และให้บริโภคใบชาหรือใบเมี่ยงหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วอย่างต่ำ 30 นาที ซึ่งจากการทดลองดังกล่าวได้ผลเป็นที่น่าพอใจคือ กลุ่มทดลองมีอาการเหน็บชาลดน้อยลงหรือหมดไป ส่วนอีกการทดลองหนึ่งนั้นได้ทดสอบโดยการบีบน้ำมะนาวหรือเติมวิตามินซีลงไปในน้ำชาซึ่งพบว่าสามารถยับยั้งการทำลายวิตามินบี 1 ได้

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเรื่องความดื้อของเชื้อมาเลเรียในเลือดของผู้ป่วยและผู้ที่มีสภาพร่างกายปกติ และศึกษาร่วมกับคณะทำงานเพื่อริเรื่มให้มีการคุมกำเนิดในเพศชาย เพื่อลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกจากการใช้ยาคุมกำเนิดในเพศหญิง ทำงานได้ระยะหนึ่งก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาเขตศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2523 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่ หอพักอาศัยของนักศึกษาและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับการย้ายนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ไปยังวิทยาเขตศาลายา ในปี พ.ศ. 2525 และได้ถ่ายโอนงานวิจัยให้กับผู้ร่วมวิจัยท่านอื่นเพื่อดำเนินการต่อไป

ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้บุกเบิกให้มีสาขาวิจัยที่หลากหลายขึ้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการนำวิชาวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการแก้ปัญหาของชุมชน ภายใต้หลักการ “from Molecule to Community” นั่นคือ การนำเอางานวิจัยระดับโมเลกุลไปพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาชุมชนได้ โดยในสถาบันฯ ประกอบไปด้วยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิจัยต่างๆ โดยได้ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 8 ปี จนกระทั่งเกษียนอายุราชการ และในเวลาเดียวกันอาจารย์ยังได้เป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยเริ่มดำเนินการภายใต้หลักสูตรตามมาตรฐานสากล นั่นคือ ในช่วง 2 ปีแรก เป็นหลักสูตรพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ เพื่อให้นักศึกษามีพื้นฐานเท่าเทียมกับนักศึกษานานาชาติและปูพื้นฐานให้นักศึกษามีความรอบรู้และวิสัยทัศน์กว้างขวางในระดับสากล หรือที่เรียกว่าการสร้างคนให้เป็น Global Population จากนั้นจึงแยกออกเป็นสาขาต่างๆ ในช่วงสองปีหลัง อีกทั้งอาจารย์ยังเป็นผู้เริ่มก่อตั้งสาขาบริหาร โรงแรมและการท่องเที่ยว (Travel Industry Management) เนื่องจากเล็งเห็นว่าผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานระดับกลางในสาขาดังกล่าวค่อนข้างน้อยและขาดแคลน โดยได้ขอคำปรึกษาจากท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เจ้าของโรงแรมดุสิตธานี พบว่าบุคลากรบริหารระดับกลาง (Middle Manager ) ยังขาดอยู่ ดังนั้นจึงต้องสร้างบุคลากรดังกล่าวเพื่อพัฒนาเป็นผู้บริหารระดับสูงต่อไป โดยจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาจีนและญี่ปุ่นเพิ่มเติมด้วยและจากการเล็งเห็นปัญหาต่างๆ จึงมีแนวคิดว่าการพัฒนาต้องเริ่มจากการพัฒนาที่ตัวบุคคล จึงได้จัดตั้งกองทุนเพื่องานวิจัยศาสตราจารย์ ดร.สิรินทร์ พิบูลนิยม ให้กับนักวิจัยอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น